Bioplastics ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แท้จริงเป็นอย่างไร

กระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังล้นโลก ทำให้พลาสติกชีวภาพได้รับความสนใจจากหลายๆประเทศ ในการพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่เพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้มีการประยุกต์ใช้พลาสติกชีวภาพ ในด้านต่างๆอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงพลาสติกชีวภาพ แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็กำลังเกิดความสับสนระหว่าง ชนิดของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ซึ่งมีทั้งพลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานและ ที่แอบอ้างว่า เป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ เรามาดูกันนะคะว่า จากรายละเอียดด้านล่างแล้ว พลาสติกชีวภาพแท้จริงเป็นเช่นไร และอะไรคือความแตกต่างของพลาสติกทั้งสองชนิดนี้

 

อะไรคือ Bioplasitcs 

 

พลาสติกชีวภาพ (bioplastics) นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ที่ทันสมัย ต่อกระแสต้านภาวะโลกร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics หรือ compostable plastics) เป็นวัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่มูลค่าของการผลิต การนำมาใช้งาน ตลอดจนถึงการกำจัด โดยสามารถผลิต ได้จากวัตถุดิบการเกษตร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถ ปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือ อ้อย นอกจากนี้ในกระบวนการผลิต พลาสติกชีวภาพ ยังใช้พลังงานและทำให้เกิด ก๊าซเรือนกระจก ต่ำกว่า พลาสติกธรรมดาถึง ร้อยละ 20  ประการสำคัญที่สุด ที่เป็นจุดเด่นของพลาสติกชีวภาพ คือ ในกระบวนการกำจัด หลังการใช้พลาสติกชนิดนี้แล้ว สามารถแตกสลายทางชีวภาาพ (biodegradable) ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะจะถูกจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ใช้เป็นอาหาร และ ย่อยสลายกลาย เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และมวลชีวภาพ ซึ่งพืชสามารถนำกลับไปใช้ ในการสังเคราะห์แสง เพื่อหมุนเวียนกลับมาผลิตแป้งหรือน้ำตาลในมันสำปะหลัง หรือ อ้อย ต่อไปได้ 

 

ด้วยคุณสมบัติการสลายตัวทางชีวภาพดังกล่าว ถุงพลาสติกชีวภาพจึงได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลด ปัญหาขยะพลาสติกที่เหลือตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้จากปริมาณ การผลิตพลาสติกของโลกในขณะนี้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 200 ล้านตัน โดยคิดเป็นปริมาณการบริโภค ของประชากรโลกสูงถึง 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ ขยะพลาสติกดังกล่าว สามารถหมุนเวียนกลับ มาใช้ประโยขน์ใหม่ได้เพียงร้อยละ 30

 

องค์การที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในยุโรป เช่น กลุุ่มบรรจุภัณฑ์ที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ และองค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหราชอาณาจักร รวมทั้งสมาคมพลาสติกชีวภาพแห่งยุโรป จึงได้ประกาศนโยบาย ที่ชัดเจนในการสนับสนุน ให้มีการใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ในการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาเป็นปุ๋ยหมักเทศบาล หรือปุ๋ยหมักอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลด จำนวนบ่อฝังกลบขยะแบบเปิด ที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาโลกร้อนและ ปุ๋ยหมักนี้จะถูกนำกลับไปฟื้นฟูคุณภาพดินได้ดียิ่งขึ้น

 

ข้อแตกต่างระหว่างพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics) และ พลาสติกสลายตัวได้ชนิดอ๊อกโซ (oxo-degradable plastics)

 

 

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัว ได้ทางชีวภาพ อ้างอิงมาตรฐานสากลของ ISO 17088 : 2008 (specification for compostable plastics) ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพได้อย่าง ชัดเจนว่าเป็น “พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือ สารพิษหลงเหลือไว้”

 

ทั้งนี้มาตรฐานดัวกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อรับรองคุณสมบัติของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อให้สามารถนำกลับคืนมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยผ่านการหมักทางชีวภาพ เช่นเดียวกับการหมักปุ๋ย ในโรงหมักของอุตสาหกรรม หรือ ของเทศบาล ซึ่งต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำ ออกซิเจน และอัตรส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจน เป็นต้น

 

พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆก่อน และแตกสลายทางชีวภาพกลายเป็น ปุ๋ยหมักในอัตราเทียบได้กับเศษหญ้า ถุงกระดาษคราฟท์ หรือ เศษอาหาร ภายใต้ข้อกำหนดที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

 

การแตกสลายทางชีวภาพ ในขั้นสุดท้ายโดยใช้ออกซิเจนนั้นจะทำให้ คาร์บอนอินทรีย์ในพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ เปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคาร์บอนอินทรีย์ในสารอ้างอิงเชิงบวก ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

การแตกเป็นส่วน หลังการหมักทางชีวภาพ (disintegration) ภายใต้ภาวะควบคุมเป็นเวลา 84 วันนั้น พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพทที่ยังคงเหลือ เมื่อร่อนผ่านร่องตะแกรงขนาด 2.0 มิลลิเมตร ต้องเห็นชัดเจนว่า ไม่แตกต่างจากวัสดุอินทรีย์ในปุ๋ยหมักที่ได้ และต้องมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 10 ของพลาสติกตั้งต้น

ความปลอดภัยต่อการเจริญเติบโตของพืช พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ที่ผ่านการหมักชีวภาพแล้ว ต้องไม่มีผลเสียต่อปุ๋ยหมัก ในการช่วยให้พืชเจริญเติบโต โดยต้องมีปริมาณสารอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนักแห้ง ไม่มีโลหะและสารพิษที่ควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด ได้แก่ สังกะสี ทองแดง นิกเกิล แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท โครเมียม โมลิบดีนัม ซีลีเนียม สารหนู และ ฟลุออรีน

 

สำหรับพลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ โดยกระบวนการแตกสลายด้วยปฏิกิริยา ออกซิเดชัน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า Oxo-Degradable Plastics นั้นไม่ได้เป็นพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่งสามารถ ตรวจสอบคุณภาพ ได้ตามมาตรฐานสากลของ ISO 17088 หรือ EN 13432 เพื่อรับรองและยืนยันความ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นพลาสติกที่ผิลตขึ้นจากพลาสติกทั่วไป เช่น พอลิเอทิลีน (polyethylene, PE) ที่ผสมสารเติมแต่งทางเคมี ซึ่งอาจจะประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น โคบอลต์ หรือ โครเมียม ที่มีคุณสมบัติเป็นสารเร่งให้เกิดปฏิกิริยาที่มีออกซิเจนใน บรรยากาศเข้าร่วมด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โมเลกุลของพลาสติกและ แตกสลายได้อย่างต่อเนื่องเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ทางกายภาพ ซึ่งยังคงตกค้างหลงเหลือ อยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันได้ว่า สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพอย่าง สมบูรณ์ 

 

ชิ้นพลาสติกเล็กๆ ชนิด อ็อกโซจำนวนมากเหล่านี้ รวมทั้งโลหะหนักจะฟุ้งกระจายและ ถูกสะสมเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจก่อให้เกิดสารที่เป็นพิซต่อร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง หรือก่อเกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ เศษพลาสติกดังกล่าว สามารถดูดซึมสารเคมี อันตรายชนิด DDT (dichlorodiphenyltrichloroethane) และ PCBs (polychlorinated biphenyls) ซึ่งปัจจุบันได้มีการประกาศเลิกใช้แล้ว แต่ยังคงตกค้าง กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสลายตัวได้ช้า ดังนั้นเศษพลาสติกอ๊อกโซ จะทำให้ความเข้มข้นของสารเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่มีอยู่ในธรรมชาติได้ถึงล้านเท่า ซึ่งเป็นเสมือนระเบิดสารเคมีที่มีพิษ ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อคุณภาพของดิน และสิ่งมีชีวิต

 

ในอีกด้านหนึ่งของการแยกขยะพลาสติกธรรมดาที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) สารเติมแต่งในพลาสติกอ็อกโซจะไปทำลายคุณภาพการเสถียรตัวของพลาสติกรีไซเคิล จึงทำให้คุณสมบัตเสียไป ไม่เหมาะที่จะนำมาปนกับพลาสติกที่ต้องการนำกลับมา ใช้ประโยชน์ใหม่ ดังนั้นในขณะนี้จึงยังไม่มีหน่วยงานไหนที่สามารถออกมาตรฐาน เพื่อใช้รับรองว่า พลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ สามารถสลายตัวเป็นปุ๋ยหมัก ได้อย่างสมบูรณ์และไม่เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับพลาสติกสลายตัว ได้ทางชีวภาพ

 

ดังนั้น ผู้ผลิต และ ผู้บริโภคจึงควรตระหนักถึงการเลือกใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพที่ ถูกต้อง มากกว่าการคำนึงถึงด้านราคา และรายได้จากธุรกิจเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว เพราะท่านอาจจะกลายเป็นผู้สร้างมลพิษเพิ่มขึ้นให้สิ่งแวดล้อมโดยรู้เท้าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจตรงข้ามกับความตั้งใจเดิมที่ต้องการช่วยปกป้อง และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังต่อไป

 

Credit : ดร.วันทนีย์ จองคำ, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)